รู้จักศูนย์ฯ พะเยา
- Details
- Category: Phayao
ประวัติความเป็นมา
มูลนิธิไว.เอ็ม.ซี.เอ.กรุงเทพฯ สาขาพะเยา ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2536 จากอดีตถึงปัจจุบันมูลนิธิฯ ได้พัฒนาโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัว ภาคเหนือ เพื่อป้องกันเด็กเข้ามาสู่กระบวนการเพศพาณิชย์ และการค้ามนุษย์ได้ดำเนินงานพัฒนาทักษะชีวิต และให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาส โดยมีแรงจูงใจมาจากเด็กที่ถูกละเมิดทางเพศ ละเมิดสิทธิเด็ก และเสี่ยงเข้าสู่กระบวนการเพศพาณิชย์ กระบวนการค้ามนุษย์ เนื่องจากขาดโอกาสทางการศึกษา ประกอบกับการแพร่ขยายของสังคม ที่บริโภคความต้องการมั่งมีในเศรษฐกิจ ทำให้เด็กบางส่วนต้องตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์
เด็กสาวแรกรุ่นในบางจังหวัดในภาคเหนือ ยังเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ เพราะความยากจนของครอบครัว ที่มาจากสาเหตุของความล้มเหลวของภาคเกษตรกรรม จึงทำให้มีหนี้สินจำนวนมาก และการรับค่านิยมบริโภคสมัยใหม่ ซึ่งยังมีเด็กจำนวนมาก ที่ยังถูกกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองโดยพ่อแม่ของพวกเขาเหล่านั้น ซึ่งเกิดจากปัญหาด้านภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ มีรายได้ที่ไม่แน่นอน ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในสังคม จึงถูกชักจูงโดยการยื่นข้อเสนอเป็นเงินก้อนใหญ่จำนวนหนึ่ง โดยผ่านนายหน้า ผู้ประกอบการค้าประเวณี และกระบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นเครื่องจูงใจให้กับครอบครัว และบ่อยครั้งที่ต้องอดมื้อ กินมื้อ และขาดทุนทรัพย์ในการเลี้ยงดูบุตรหลาน
ดังนั้นมูลนิธิไว.เอ็ม.ซี.เอ.กรุงเทพฯ สาขาพะเยา ได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อการสร้างความเข้าใจ สำหรับชุมชนให้เกิดความตระหนักถึงสภาพปัญหาของสังคม และสภาพแวดล้อมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กสาว ที่มีความเสี่ยงเหล่านั้น
ณ ปัจจุบัน มูลนิธิไว.เอ็ม.ซี.เอ.กรุงเทพฯ สาขาพะเยา ยังคงดำเนินงานพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยได้เน้นเรื่องการพัฒนาระบบการศึกษา เปิดโอกาสทางด้านการศึกษาสำหรับเด็ก และเยาวชน ในการพัฒนาทักษะชีวิตสร้างภูมิคุ้มกัน โดยการเสริมความรู้ เรื่องสิทธิเด็ก สิทธิมนุษยชน สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ การยุติความรุนแรง เรียนรู้เรื่องบทบาทชายหญิง เรียนรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านการค้ามนุษย์ และฝึกแกนนำเด็กเยาวชนมีส่วนร่วมรณรงค์ป้องกันภัยทางเพศ และการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมคนทำงาน เพื่อช่วยเหลือ และให้คำปรึกษา สำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เพื่อเป็นการดึงการมีส่วนร่วมจากผู้นำ ครู และอาสาสมัครในชุมชน เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายสหวิชาชีพ ในการป้องกันการค้ามนุษย์ และยังมีการส่งเสริมอาชีพทางเลือกเพื่อเสริมรายได้แก่เด็ก ผู้ปกครองเด็กนักเรียนทุน และผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงยังเป็นกิจกรรมที่ต้องดำเนินการร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งเสริม การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ปลูกพืชผักปลอดสารพิษ การเลี้ยงสัตว์ การเพาะเห็ดนางฟ้า โครงการพัฒนาการแปรรูปอาหาร /สมุนไพร และงานหัตถกรรมชนเผ่า เพื่อการพึ่งตนเองในระยะยาว
ทางเจ้าหน้าที่ได้จัดอบรมหลักสูตรการป้องกันการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก และการป้องกันการค้ามนุษย์ เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกันตนเอง และเด็กได้เข้าร่วมอบรมการเป็นผู้นำรณรงค์ป้องกันการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้มีมูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (ECPAT FOUNDATION) เป็นผู้จัดการอบรมในครั้งนี้ด้วย